น้ำกำลังจะท่วม! เตรียมบ้านเพื่อรับมือกับน้ำท่วมอย่างไร ให้เสียหายน้อยที่สุด

201 จำนวนผู้เข้าชม  | 

น้ำกำลังจะท่วม! เตรียมบ้านเพื่อรับมือกับน้ำท่วมอย่างไร ให้เสียหายน้อยที่สุด

วันนี้เลยได้รีบมาแนะนำวิธีการ ‘เตรียมบ้าน’ เพื่อรับมือกับปัญหาน้ำท่วม ให้เพื่อนๆได้มีเวลาเตรียมกันได้ทันท่วงที ให้เพื่อนๆสามารถหาซื้อมาเตรียมไว้ได้สะดวก เป็นวัสดุที่หาง่ายทั่วไป ซึ่งจะมีทั้งวิธีการป้องกันและชะลอน้ำท่วมเข้าพื้นที่ภายในบ้าน การอุดรอยรั่ว ดูแลงานระบบต่างๆ ไม่ให้น้ำไหลผุดเข้าบ้านผ่านทางท่อ และดูแลระบบไฟฟ้าอย่างไรให้ปลอดภัย

ปัญหาน้ำท่วม ทำให้เกิดความเสียหายอะไรบ้าง ?
 
ใครที่เคยเจอน้ำท่วมกันมาแล้วคงทราบดีว่าน้ำท่วมแต่ละครั้งสร้างความเสียหายได้มากขนาดไหน ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ต้องทำความสะอาดทุกพื้นที่ที่น้ำท่วมแล้ว ยังส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินตามมาอีกหลายอย่างไม่ว่าจะเป็น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้าพัง บัวพื้น สีผนังลอกร่อน มีเชื้อรา เกิดความเสียหายต่องานระบบไฟฟ้า บานประตู หน้าต่างเสียหาย ฯลฯ สามารถสรุปเป็นหัวข้อใหญ่ๆให้พิจารณาได้ ดังนี้
 

ภายในบ้านเสียหายไม่ว่าจะเป็นพื้น บัว ประตู หน้าต่าง ผนัง
งานระบบสุขาภิบาล ระบบไฟฟ้าขัดข้อง
เฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้าเสียหาย
ความสกปรก คราบน้ำขัง

 

 

วิธีการเตรียมบ้านเพื่อรับมือกับ ‘น้ำท่วม’
 
ก่อนอื่นถ้าบ้านใครที่เจอกับน้ำท่วมเป็นประจำ หรืออาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อน้ำท่วมแนะนำให้เตรียมเครื่องสูบน้ำมาเป็นตัวช่วยด้วยนะคะ เผื่อเวลาที่น้ำระบายออกไม่ทันก็สามารถสูบออกเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกับตัวบ้านได้

 

หลักการของการติดตั้งเครื่องสูบน้ำคือเมื่อน้ำท่วมด้านนอกบ้าน ให้ปิดวาล์วน้ำที่เชื่อมต่อกับท่อระบายน้ำสาธารณะเพื่อไม่ให้น้ำย้อนเข้ามาภายในท่อระบายน้ำของเราได้ (ถ้าไม่มีวาล์วน้ำให้ทำตามขั้นตอนที่ 2 วางแผนป้องกันน้ำผุดภายในบ้านผ่านระบบประปา) และเมื่อมีน้ำเข้ามาภายในพื้นที่บ้านของเราให้สูบน้ำออกด้านนอก ดังรูป ส่วนเครื่องสูบน้ำนั้นมีให้เลือกตั้งแต่หลัก 3 พันจนถึงหลักหมื่นขึ้นอยู่กับกำลังในการสูบและยี่ห้อนะคะ
หลังจากซื้อเครื่องสูบน้ำเตรียมไว้เรา ต่อมาเพื่อรับมือกับน้ำท่วมมีสิ่งที่ควรคำนึงถึง 6 ข้อด้วยกัน ตามไปเช็คกันที่ละจุดได้เลยค่ะ

 

1 การป้องกันและชะลอน้ำท่วม
 
ความเสียหายหลังน้ำท่วมบางอย่างเราก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ อย่างเช่นความสกปรกที่มากับน้ำ และการลอกร่อนของพื้นและบัวพื้นที่อาจหลุดลอกออกมาหากเกิดเหตุการณ์น้ำขังนานๆ ดังนั้นวิธีการป้องกันก็คือพยายามให้น้ำท่วมเข้ามาในพื้นที่บ้านได้น้อยที่สุด หรืออย่างน้อยก็ทำให้น้ำเข้ามาภายในบ้านของเราช้าที่สุด จนเราสามารถสูบออกได้ทันก่อนเกิดความเสียหายนั่นเองค่ะ

วิธีที่ 1 กระสอบทรายกันน้ำ
 
กระสอบทรายเป็นไอเทมพื้นฐานในการกันน้ำท่วมเลยค่ะ เพราะสามารถหาซื้อได้ง่ายราคาไม่แพง หรือสามารถทำเองได้เลย  โดยจะต้องมัดถุงให้แน่นจนทรายไม่สามารถไหลออกมาได้
เทคนิคในการวางก็คือวางกระสอบทรายให้กันพื้นที่รอบบ้าน ห่างจากตัวบ้านมากกว่า 2 เมตร เพื่อให้สามารถสังเกตจุดรั่วได้ง่าย หรือถ้าวางชิดกับรั้วได้ยิ่งดีเลยค่ะ การเรียงให้วางทับกันเป็นเหมือนเนินพีระมิด เพื่อความมั่นคงและทนแรงดันของน้ำได้ ซึ่งวิธีนี้จะเหมาะกับพื้นที่ที่น้ำท่วมไม่สูงมากนัก แต่ช่วยกันและชะลอน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพค่ะ

 

 

วิธีที่ 2 กำแพงกันน้ำ
 
กำแพงกันน้ำสามารถทำได้หลายวิธีค่ะ ถ้าต้องการความสะดวกรื้อถอนง่ายไม่ยุ่งยากแนะนำให้ใช้บานเหล็ก หรือบานไม้ที่มีความแข็งแรงมาปิดพื้นที่รอบบ้านที่มีช่องว่างทั้งหมด โดยทำเสาค้ำยันที่มีความแข็งแรงให้สามารถรองรับแรงดันน้ำได้ และเชื่อมต่อรอยต่อต่างๆของบ้านด้วยซิลิโคนหรือดินน้ำมันค่ะ ซึ่งข้อดีคือสามารถเลือกแผ่นเหล็กขนาดใหญ่กันน้ำท่วมที่มีความสูงในระดับหนึ่งได้ แต่วิธีนี้อาจจะเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อบานเหล็กมากั้นสักหน่อยนะคะ
อีกวิธีหนึ่งในการทำกำแพงก็คือก่อกำแพงด้วยอิฐ โดยจะเลือกเป็นอิฐมอญ หรืออิฐมวลเบาก่อนใหญ่ๆ แบบไหนก็ได้ค่ะ นำมาเรียงซ้อนกันให้มีความแข็งแรงอาจจะใช้กระสอบทรายช่วยค้ำและอุดรอยต่อไปในตัว ซึ่งควรเพิ่มประสิทธิภาพของกำแพงอิฐด้วยการคลุมแผ่นพลาสติก หรือผ้าใบก่อนจะวางทับด้วยถุงทรายด้านล่าง และติดแทปให้แผ่นพลาสติกไม่เลื่อนหลุดได้ง่าย ข้อดีคือหาวัสดุได้ง่าย แต่อาจจะก่อได้ไม่สูงมากนัก
ทั้ง 2 วิธีนี้เพื่อความชัวร์เพื่อนๆที่กั้นตรงส่วนรั้วแล้ว ถ้าวัสดุยังเหลือแนะนำให้กั้นกำแพงกันน้ำอีกชั้นหนึ่งบริเวณรอบบ้าน เพื่อชะลอเวลาให้สามารถสูบน้ำที่อาจไหลมาตามรอยต่อ หรือจากฝนที่ตกลงมาได้ทันท่วงที

 

2 วางแผนป้องกันน้ำผุดภายในบ้านผ่านระบบประปา
 
นอกจากน้ำที่สามารถไหลเข้ามาจากภายนอกได้แล้ว ในภาวะน้ำท่วมมักเกิดเหตุการน้ำผุดเข้ามาภายในบ้านจากการที่ระดับน้ำภายนอกสูงขึ้น ทำให้น้ำไหลย้อนเข้ามาตามท่อระบายน้ำชั้น 1 ซึ่งเป็นธรรมชาติของน้ำที่จะรักษาระดับเดียวกัน ซึ่งสามารถป้องกันได้ 2 วิธีค่ะ


 

วิธีที่ 1 วัสดุอุด/ทับท่อระบายน้ำ
 
ถ้าน้ำขึ้นไม่สูงมากเราสามารถใช้กระสอบทรายกดทับท่อระบายน้ำ หรือใช้ผ้า, กระดาษหนังสือพิมพ์ขยำให้แน่นและอุดท่อได้ค่ะ แต่วิธีนี้มักทนแรงดันน้ำได้ไม่มาก ถ้าคิดว่าน้ำอาจขึ้นสูงแนะนำให้ใช้วิธีที่ 2 แทน

 

 

วิธีที่ 2 ใช้ท่อ PVC 
 
เลือกใช้ท่อ PVC ขนาดใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลาง 4 นิ้วมาต่อครอบท่อระบายน้ำต่อให้สูงกว่าระดับน้ำที่ท่วม เผื่อความสูงไว้ในกรณีท่วมหนักได้เลยค่ะ อุดรอยต่อด้วยซิลิโคน วิธีนี้จะทำให้ระดับน้ำดันสูงขึ้นมาตามท่อจนเท่ากับระดับน้ำที่ท่วมด้านนอก โดยไม่ไหลทะลักเข้ามาภายในบ้าน และไม่ต้องใช้น้ำหนักกดทับจำนวนมากอีกด้วย

 

3 ป้องกันน้ำไหลเข้าบ้าน อุดรูรั่วระหว่างประตู หน้าต่าง
 
ถ้าน้ำไหลเข้ามาภายในพื้นที่ของบ้านได้ และมีโอกาสจะไหลเข้ามาในบ้าน ให้เราเตรียมอุดรอยต่อระหว่างประตูหน้าต่าง เพื่อให้น้ำเข้ามาทำความเสียหายกับบ้านได้น้อยที่สุด ซึ่งสามารถเลือกทำได้ 2 วิธีตามความเหมาะสมนะคะ

วิธีที่ 1 อุดรอยต่อด้วยดินน้ำมัน
 
วิธีนี้เป็นวิธีที่ง่ายและรวดเร็ว โดยการใช้ดินน้ำมัน หรือดินเหนียวในการอุดรอยต่อระหว่างประตูหน้าต่าง มีข้อดีคือเมื่อน้ำลดแล้วเราสามารถขูดออก และทำความสะอาดได้ง่าย ไม่เกิดความเสียหาย แต่ก็มีข้อจำกัดคือระยะเวลาการใช้งานไม่นาน และทนแรงดันน้ำได้ไม่มากค่ะ
 

วิธีที่ 2 กำแพงกันน้ำ
 
วิธีนี้จะเหมือนกับการทำกำแพงกันน้ำภายนอกเลยค่ะ โดยเลือกใช้แผ่นกระดาน แผ่นพลาสติก หรือแผ่นเหล็กในการปิดรอยต่อประตูหน้าต่าง เชื่อมด้วยซิลิโคน กาวกันน้ำหรือยิงตะปูเข้ากับผนังเพื่อความแข็งแรง โดยจะต้องเผื่อพื้นที่ทากาวที่ยึดติดกับผนังเยอะหน่อยนะคะ มากกว่า 10 เซนติเมตรยิ่งดีค่ะ วิธีนี้ข้อดีคือสามารถกันน้ำท่วมสูงได้มีความแข็งแรง แต่ก็จะต้องแลกกับการรื้อถอนที่ยากขึ้นด้วยค่ะ


4 วิธีป้องกันน้ำซึมเข้าผนังทำให้เกิดสีลอกร่อน
 
ถ้าพื้นที่ไหนเกิดน้ำท่วมขังเป็นเวลานานอาจทำให้ผนังปูนชื้น เกิดความเสียหายต่อสี Wallpaper และบัวพื้นได้ ต้องบอกกันตามตรงนะคะว่าปัญหานี้แก้ได้ค่อนข้างยาก และยังพอมีวิธีที่ช่วยลดความเสียหายที่ผนังได้ โดยการทาสีทากันน้ำ กันเชื้อรา หรือใช้แผ่นพลาสติก ผ้าใบห่อหุ้มผนังไว้ แปะด้วยเทปกาวที่มีความเหนียว (แลคซีน) ปิดทับตั้งแต่พื้นไปจนถึงขอบแผ่นพลาสติก แม้อาจไม่ได้ช่วยกันได้ 100 % แต่อาจจะช่วยลดความเสียหายจากน้ำท่วมระยะสั้นได้บ้างค่ะ

 

5 ระบบไฟฟ้าเป็นระบบที่เมื่อเกิดเหตุน้ำท่วมสามารถเกิดอันตรายถึงชีวิตได้เลยนะคะ มีความอันตรายมากๆ ดังนั้นของแบ่งวิธีการใช้ไฟฟ้าออกเป็น 3 ช่วงตามคำแนะนำของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ดังนี้
 

ก่อนเกิดน้ำท่วม
 
เมื่อรู้ว่าน้ำกำลังจะท่วมสูงก่อนย้ายออกจากบ้าน หรือย้ายขึ้นชั้น 2 ให้สับสวิตช์ไฟหลักของบ้านเพื่อตัดกระแสไฟฟ้า พร้อมกับย้ายเครื่องใช้ไฟฟ้าขึ้นที่สูง ผู้เขียนคิดว่าควรหาจุกยางกันน้ำหรือเทปปิดเต้ารับทั้งหมดด้วย เพื่อเป็นการป้องกันน้ำไหลเข้าไปด้วยค่ะ
 

ขณะน้ำท่วม
 
ในเวลาที่น้ำท่วมแล้วห้ามใช้ปลั๊กไฟและสวิตช์ไฟที่น้ำท่วมถึงโดยเด็ดขาด และไม่ควรสัมผัสสวิตช์และปลั๊กไฟขณะตัวเปียกด้วยนะคะ สำหรับบ้านชั้นเดียวที่น้ำท่วมแล้วควรงดใช้ไฟฟ้าเด็ดขาด และอพยพออกจากบ้านเพื่อความปลอดภัย ส่วนบ้าน 2 ชั้นควรมีสวิตช์ไฟแยกแต่ละชั้น และปลดเบรกเกอร์ตัดกระแสไฟฟ้าชั้นล่าง
 

หลังน้ำท่วม
 
เมื่อน้ำลดลงแล้วไม่ควรใช้ไฟฟ้าเลยในทันที ควรให้ช่างไฟฟ้าตรวจสอบกระแสไฟว่ามีไฟรั่วไหม ระบบใช้งานได้ปกติหรือไม่ ให้มั่นใจก่อนการใช้งานจริงค่ะ


6 ขนย้ายเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้า
 
สุดท้ายถ้าไม่อยากให้เฟอร์นิเจอร์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าเสียหาย อย่าลืมขนย้ายสิ่งของที่จำเป็นและเสียหายได้จากน้ำท่วมขึ้นที่สูง หรือย้ายขึ้นชั้น 2 ของบ้านเพื่อความชัวร์ได้เลยค่ะ ไม่เช่นนั้นอาจจะต้องเสียเงินซื้อเฟอร์นิเจอร์ใหม่ทั้งชั้นเลยก็เป็นได้นะคะ

 

เครดิตเว็บไซต์ : https://thinkofliving.com/

#ตรวจบ้าน #ตรวจคอนโด #ตรวจบ้านก่อนโอน #บริษัทรับตรวจบ้าน #บริษัทตรวจบ้าน #บริษัทรับตรวจบ้านPANTIP #ตรวจบ้านเจ้าไหนดี #ตรวจคอนโดเจ้าไหนดี #ตรวจบ้านราคา #ตรวจบ้านก่อนโอนราคา #จ้างตรวจบ้าน #จ้างตรวจคอนโด #Checklistตรวจบ้าน #Checklistตรวจคอนโด

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้