ปลวกขึ้นบ้าน ทำยังไงดี

170 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ปลวกขึ้นบ้าน ทำยังไงดี

ก่อนอื่นเลย สำหรับการจัดการกับปลวก จะขาดไปไม่ได้เลยถ้าหากเราไม่ทำความรู้จักกับมันซะก่อน เพราะจะช่วยให้เรารับมือกับมันได้ง่ายยิ่งขึ้น ทำให้เราทราบว่ามันอาศัยอยู่ที่ไหน ชอบอะไร มาเพราะอะไร เพราะเชื่อเถอะครับว่าหากไม่รู้จักป้องกันก่อน จะปวดหัวกับการแก้ปัญหาทีหลังอย่างคาดไม่ถึงเลย
ต้องบอกก่อนว่าปลวกในประเทศเรานั้นมีอยู่หลายชนิด แต่ชนิดที่เป็นอันตรายต่อบ้านเรือนมากที่สุดก็คือ ปลวกใต้ดิน เป็นปลวกชนิดที่อาศัยอยู่ใต้พื้นดิน และจะมุดอยู่ใต้ดินตลอด วิธีจู่โจมของมันก็คือจะทะลุขึ้นมาตามรอยแตก รอยแยกของพื้นคอนกรีต หรือรอยต่อระหว่างผนัง เสา หรือคานคอดินของตัวบ้าน มีเพียงรูนิดเดียวก็สามารถยกกองทัพกันเข้ามาได้แล้ว มันจะเข้าไปทำลายโครงสร้างไม้ต่างๆภายในอาคาร เช่น เสาและคานไม้ พื้นปาร์เก้ โครงคร่าวเพดาน โครงคร่าวฝ้า วงกบประตู และหน้าต่าง เป็นต้น ดังนั้นสำหรับใครที่รู้ตัวว่ามีส่วนประกอบเหล่านี้เป็นไม้อยู่ภายในบ้าน มาลองดูกันว่าก่อนสร้างบ้าน เราจะป้องกันมันอย่างไรได้บ้าง


 
ดูแลและจัดการกับปลวกตั้งแต่ก่อนก่อสร้างบ้าน
 
ก่อนที่เราจะสร้างบ้าน ร้านค้า หรืออาคารต่าง ๆ เราควรคำนึงถึงปัญหาต่าง ๆ ที่จะตามมา ทั้งเรื่องของการเลือกใช้วัสดุในการก่อสร้างและตกแต่งที่มีคุณภาพ เรื่องของการวางงานระบบอย่างเหมาะสม เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมาเสียเวลาซ่อมภายหลัง และอื่นๆอีกมากมาย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็อย่าลืมเรื่องของการป้องกันปลวกมารบกวนบ้านด้วยเช่นกัน เพราะเราสามารถวางแผนรับมือมันได้ตั้งแต่ขั้นตอนนี้เลยนั่นแหละ ลองไปดูกันครับว่าเราจะเตรียมตัวรับมือกับเจ้าปลวกจอมร้ายยังไงได้บ้าง
 
เลือกวัสดุ
 

สำหรับใครที่กำลังจะก่อสร้างบ้านใหม่ควรคิดและวางแผนให้ดีนะครับ การเลือกใช้วัสดุก่อสร้างต่างๆ ควรเลือกวัสดุที่ปลวกไม่กิน หรือหากต้องใช้วัสดุเป็นไม้ ก็ควรใช้ไม้ที่ผ่านการอัดน้ำยากันปลวก โดยน้ำยาที่อัดไม่ควรเป็นอันตรายต่อมนุษย์ มีการใช้วัสดุพลาสติกปูรองพื้นบ้านจะก่อนเทพื้นจริง หรือปูแผ่นพลาสติกรองระหว่างพื้นดินและพื้นกระเบื้องไว้เลย เพื่อป้องกันปลวกขึ้นมาจากใต้ดิน หรืออาจจะเลือกแบบบ้านที่ยกพื้นบ้านขึ้นสูง จะช่วยป้องกันสัตว์ต่างๆนอกจากปลวกได้ด้วยนะ ส่วนพวกโครงคร่าวก็ให้ใช้เป็นเหล็ก ฝ้าก็ไม่ใช้พวกที่เป็นยิปซั่มบอร์ด (ซึ่งจะมีส่วนผสมของกระดาษ) ให้ใช้เป็นไม้เทียมพวกสมาร์ทบอร์ดแทน หรือการเลือกใช้ประตูหน้าต่างที่มีขอบยางรอบๆ จะช่วยให้สามารถปิดได้สนิทมากยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันความชื้นเข้ามาภายในบ้านหรือสัมผัสกับเนื้อไม้ที่เป็นวงกบ หรือถ้าดีก็ควรใช้เป็นวัสดุอื่นๆที่ปลวกไม่กิน เช่น วงกบอลูมิเนียมหรือเหล็ก เฟอร์นิเจอร์ต่างๆก็ต้องเลือกเช่นกัน เช่น ตู้เตียงก็หาแบบมีขามาใช้ จะได้มองเห็นข้างใต้ชัดเจน และทำความสะอาดง่ายหน่อย เพราะบางทีถ้าเป็นแบบทึบปลวกกัดกินอยู่ภายในก็ไม่รู้เลย จะรู้อีกทีก็ตอนทรุดซะแล้ว การเริ่มป้องกันเหล่านี้จะช่วยลดปัญหาที่จะตามมาได้มาก และเชื่อเถอะครับว่าใช้ต้นทุนน้อยกว่าการที่จะต้องไปเสียเงินแก้ปัญหาและไล่กำจัดปลวกในภายหลัง
 
วางท่อฉีดปลวก
 
เป็นอีกหนึ่งวิธีที่นิยมกันมากในสมัยนี้ เพราะเป็นการวางรากฐานของการป้องกันปลวกแบบระยะยาว เพราะอย่างที่ผมบอกไปว่าปลวกที่เป็นอันตรายกับบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างมากที่สุดคือชนิด ปลวกใต้ดิน ซึ่งจะอาศัยอยู่ใต้ดินและชอนไชจากฐานดินขึ้นสู่ตัวอาคาร ดังนั้นการวางแผนปลูกสร้างอาคาร ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน สถานบริการหรือร้านค้าต่างๆ ก็ควรจะคำนึงถึงการ “วางท่อฉีดปลวก” ที่ติดกับคานคอดินของอาคาร ซึ่งปัจจัยสำคัญคือจะต้องทำตั้งแต่ก่อการก่อสร้าง วิธีนี้จัดเป็นวิธีกำจัดปลวกที่ได้ผลมากที่สุดในปัจจุบัน เป็นขั้นตอนที่ควรใช้ผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำนะครับ เพราะต้องมีการคำนวณถึงชนิดท่อ ขนาดท่อ ระยะของแต่ละจุด และรายละเอียดต่างๆของสารที่จะใช้ฉีด ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้จะเริ่มก็ต่อเมื่อหลังจากที่ได้ทำการเทคานคอดินเสร็จเรียบร้อยแล้ว
 

1.ช่างเทคนิคเหล่านี้จะทำการวางระบบท่อกำจัดปลวก ควรใช้ท่อที่ทนแรงอัดได้สูง เช่นท่อ PE ที่ถูกต้องตามมาตรฐานกระทรวงอุตสาหกรรมรับรองมาแล้ว (เพราะถ้าแตกหรือมีปัญหาภายหลังจะซ่อมได้ยาก)
2.วางแนวท่อติดกับตัวคานคอดินด้านใน โดยจะติดตั้งระยะของรูฉีดน้ำยาสปริงเกอร์ห่างกันประมาณทุกๆ 1 เมตร ส่วนภายนอกอาคารจะมีวาล์วหัวอัดน้ำยาไว้ตามจุดเป็นช่วง ๆ สำหรับอัดและราดน้ำยาเข้าสู่ท่อ โดยควรวางจุดอัดน้ำยาแต่ละจุดประมาณ 100 ตารางเมตรต่อ 1 จุด
3.หลังจากเดินท่อเสร็จแล้วบางที่ก็จะฉีดน้ำยาที่หน้าดินในพื้นที่ก่อสร้างให้ด้วย ก็จะช่วยป้องกันในเบื้องต้นไปอีกหน่อย
 
 
หลักการเบื้องต้นของการวางท่อฉีดปลวกก็ประมาณนี้ครับ เพื่อทำให้ดินเป็นพื้นที่อันตรายของเหล่าปลวกร้าย (มีน้ำยาให้เลือกหลายรูปแบบ ทั้งสารเคมีและสารสกัดจากธรรมชาติ) และปลวกจะไม่สามารถขึ้นมาสู่ตัวบ้านของเราได้ ส่วนราคาค่าใช้จ่ายจะคิดตามขนาดบ้านเฉพาะส่วนของชั้น 1 เป็น ตร.ม. โดยจะมีราคาที่แตกต่างตามชนิดของท่อ เช่นถ้าท่อหนา HDPE ราคาประมาณ ตร.ม. ละ 80-130 บาท /ตร.ม. หรือจะเลือกใช้เป็นท่อบาง แบบท่อ LDPN ราคาประมาณ ตร.ม. ละ 60-100 บาท / ตร.ม. นอกจากนี้การเติมน้ำยาจะมีระยะเวลาขึ้นอยู่กับชนิดของน้ำยาที่เลือกใช้ ซึ่งส่วนมากจะรับประกันในปีแรก จากนั้นฉีดน้ำยาเพิ่มเองก็ต้องจ่ายเพิ่ม ซึ่งค่าใช้จ่ายก็จะขึ้นอยู่กับขนาดของตัวบ้านอีกเช่นเคย ประมาณ 5000-12,000 บาท (จากบ้านทาวน์โฮมขนาดเล็ก 100 ตร.ม. – บ้านเดี่ยวขนาดประมาณ 350 ตร.ม.)
 
ดูแลและจัดการกับปลวกในช่วงอยู่อาศัย
 
สำหรับใครที่อยู่อาศัยในบ้านมานานแล้ว แล้วค่อยเกิดปัญหาเรื่องปลวกขึ้นในภายหลัง ก็ไม่ต้องเสียใจไป เพราะเราก็มีวิธีจัดการเหมือนกัน โดยจะมีทั้งวิธีป้องกัน และวิธีกำจัดมาแนะนำให้รู้จักกันเลย เริ่มตั้งแต่การทำความเข้าใจกับปลวกให้มากขึ้น จนไปถึงการใช้สารเคมีในการจัดการ ลองไปดูกันเลยครับ
 
ความชื้น
 
ก่อนอื่นเลยต้องรู้ให้ทันก่อนว่าปลวกนั้นชอบอะไร สิ่งที่นำพาปลวกเข้ามาในบ้านก็คือความชื้นครับ โดยเริ่มได้ตั้งแต่การออกแบบก่อนการก่อสร้าง ให้ทำพื้นที่ภายนอกในส่วนที่ใกล้วัสดุที่เป็นไม้ให้มีลักษณะลาดลงเพื่อให้สะดวกแก่การระบายน้ำ ลดโอกาสเกิดน้ำขังซึ่งจะกลายเป็นความชื้นที่สะสมและเรียกปลวกมาอย่างแน่นอน หรือถ้าบ้านใครสร้างมาแล้ว การกำจัดความชื้นง่ายๆก็คือ หมั่นเปิดประตูและหน้าต่างภายในบ้าน รวมไปถึงพัดลมดูดอากาศ เพื่อให้มีอากาศถ่ายเทภายในบ้านตลอด ช่วยลดความชื้นสะสมในบ้านได้ แถมยังทำให้ผู้อยู่อาศัยในบ้านรับลมเย็นสบายและระบายกลิ่นต่างๆในบ้านได้ด้วย
 
อาหารจานโปรดของปลวก
 
นอกจากไม้แล้วเจ้าปลวกเหล่านี้ก็กินอย่างอื่นกันอีกด้วยนะ ตั้งแต่ดินและสารอาหารในดิน ใบไม้และเศษซากพืชที่ทับถมกันอยู่บนพื้นดิน แต่เชื่อไหมละครับว่าของโปรดของมันเป็นพวกมันคือกระดาษ หรือลังกระดาษต่างๆ ที่เรามักจะใช้บรรจุพัสดุกันนั่นแหละ  เพราะมีส่วนผสมหลักเป็นเซลลูโลส ซึ่งเป็นของโปรดของปลวกเช่นเดียวกับที่มีมากในไม้ต่างๆ ส่วนใหญ่เราใช้ลังกระดาษกันเสร็จแล้วก็มักจะทิ้งไว้ภายในบ้าน ซึ่งปลวกเหล่านี้จะมองหาแหล่งอาหารจานโปรดของมัน จากนั้นก็จะลามไปที่เฟอร์นิเจอร์และวัสดุที่เป็นตัวบ้านของเราครับ วิธีแก้ไขก็คือใช้แล้วเก็บให้เป็นที่หรือนำไปทิ้ง ถ้าจะเก็บก็ต้องเป็นในที่ที่ไม่อับชื้น และหมั่นตรวจเช็คดูบ่อยๆนะครับ
 
 
ต้นไม้
 
ต้นไม้เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่พาปลวกเข้ามาภายในบ้าน  เพราะต้นไม้มักจะมีความชื้นสูงและปลวกมักจะชอบมาทำรังที่บริเวณต้นไม้ และอาจจะลุกลามมาที่บ้านของเราได้ ดังนั้นถ้าปลูกต้นไม้ในบริเวณใกล้ตัวบ้าน ก็ต้องระวังกันด้วยนะครับ ยิ่งถ้าเป็นต้นไม้ใหญ่ปลวกก็จะยิ่งชอบนะครับ
 
ทราย
 
อีกหนึ่งวิธีป้องกันปัญหาง่ายๆก่อนจะโดนเจ้าปลวกคุกคาม ก็คือการเททรายบริเวณรอบ ๆ กำแพงบ้านด้านนอก วิธีนี้จะช่วยป้องกันปลวกใต้ดินไม่ให้ซอกซอนเข้ามาในบ้านเราได้ เพราะทรายจะช่วยลดความชื้น และป้องกันการเดินผ่านของปลวกได้เบื้องต้น แต่ถ้าอยากให้ได้ผลดีแน่นหนากว่านี้ ให้เจาะพื้นไม้ในจุดต่าง ๆ ที่มีปลวก ลึกลงไปประมาณ 4 นิ้ว กว้าง 6 นิ้ว แล้วเททรายลงไปในรูหลังจากนั้นก็อุดรูให้มิดชิด
 
หมั่นตรวจตรา
 
เป็นส่วนที่ผมมักจะแนะนำในทุกบทความดูแลบ้านนะครับ บ้านของเราควรที่จะตรวจตราดูแลกันบ่อยๆ ทำให้เป็นประจำ จะช่วยให้เวลาเจอปัญหาอะไรก็แก้ไขได้เร็วและทันท่วงที ทำได้โดยการสังเกตเฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ของใช้ในบ้านที่ทำจากไม้ต่างๆ ให้ลองเคาะและฟังเสียงดูว่าภายในกรวงรึป่าว ลองเทียบกันหลายๆจุด นอกจากนั้นก็ดูโครงการสร้างส่วนต่างๆของตัวบ้าน ว่ามีการแตกแยก เป็นร่องหรือร้าวตรงไหนรึป่าว เพื่อที่จะได้รีบซ่อมแซมทุกจุดรั่วในบ้าน โดยก่อนจะลงยาแนวหรือฉาบปูนทับ ควรเช็ครอยแตกว่าลึกไหม มีรูใหญ่พอให้สามารถเติมทรายลงไปก่อนเพื่อเพิ่มความแน่นหนาได้หรือไม่ ถ้าได้ก็ควรเติมลงไปจากนั้นจึงค่อยฉาบปิดช่องให้สนิทครับ
 
เจาะพื้นอัดน้ำยากำจัดปลวก 
 
หลังจากที่รู้จักกับปลวกกันมากขึ้นแล้ว ถัดมาสำหรับใครที่สร้างบ้านเสร็จแล้วโดยที่ไม่ได้วางท่อฉีดปลวกไว้ใต้แนวคานของบ้าน ก็มีวิธีฉีดปลวกได้เหมือนกัน แต่ก็แนะนำให้ใช้ผู้เชี่ยวชาญในการทำเช่นเดิมนะครับ คือเขาจะใช้สว่านเจาะพื้นของตัวบ้านลงไปและนำน้ำยาลงไปฉีด จากนั้นก็ปิดผิวให้เรียบร้อยแค่นั้นเอง โดยจะมีรายละเอียดแต่ละขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้ครับ

1.อย่างแรกเราต้องเลือกมุมที่จะทำการเจาะ โดยหลักในการเลือกจะต้องเลือกจุดให้ชิดกับเสา เป็นหลัก เพราะปลวกมักจะอยู่ตามโคนเสา เพราะเป็นเส้นทางในการเดินทางของมัน เราอาจจะไม่ต้องเลือกทุกเสา ให้เน้นไปที่เสาที่ลับตาหน่อย ไม่เด่นชัดจนเกินไปเพราะจะทำให้
บ้านเกิดความเสียหาย และรอยตำหนิได้ นอกจากนั้นควรจะเลือกห้องที่มีความชื้น เพราะปลวกชอบความชื้น เช่น ห้องครัว ห้องน้ำ และที่สำคัญบริเวณนั้นต้องไม่มีท่อน้ำ หรือท่อพาดผ่านด้วยนะ เดี๋ยวจะเป็นการเพิ่มงานกันไปอีก
2.พอเลือกจุดได้แล้ว เราเริ่มที่การเจาะกระเบื้องพื้นตัวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นพื้นกระเบื้องเซรามิค พื้นหินแกรนิต พื้นหินอ่อน พื้นกระเบื้องแกรนิตโต้ เป็นต้น แนะนำให้ใช้เป็นสว่านหัวเพชรนะครับ เพราะการใช้ดอกสว่านหัวเพชรเจาะนำจะทำให้รูที่เจาะมีลักษณะกลมและไม่ทำลายกระเบื้อง เจาะให้มีความกว้างประมาณ 16-18 เซนติเมตร  ลึกลงไปประมาณ 40-60 เซนติเมตร ให้ถึงชั้นดินด้านล่าง
3.จากนั้นก็เริ่มอัดน้ำยาลงไปในรูที่เจาะไว้ครับ ให้ใช้หัวอัดแรงสูง อัดน้ำยาลงใต้พื้นอาคารตามรูที่เจาะเอาไว้ โดยใช้น้ำยาในปริมาณประมาณ 5 ลิตร ต่อ 1 รู ครับ
4.ขั้นตอนสุดท้ายคือการอุดรูและตกแต่งพื้น โดยเจ้าหน้าที่จะทำความสะอาดรูที่อัดน้ำยาแล้วให้เรียบร้อย จากนั้นก็ทำการอุดรูนั้นด้วยหัวอุด ซึ่งส่วนมากจะเตรียมมาแล้วขนาดเท่ากับรูที่เจาะ และสุดท้ายก็ปิดด้วยปูนซิเมนต์หรือปูนยาแนวผสมยากันซึมใช้สีเดียวกับพื้นจนเรียบสนิทกับพื้นเดิม
 
หลักการของการเจาะพื้นอัดน้ำยากำจัดปลวกเอง โดยที่ไม่ได้เดินท่อด้านใต้แนวพื้นก็จะประมาณนี้ครับ โดยจะมีค่าใช้จ่ายเริ่มต้นเจาะพื้นที่ประมาณ 2,000 – 3,000 บาท แต่ราคาจะแพงไม่แพงขึ้นอยู่กับน้ำยา เพราะถ้าใช้น้ำยาเกรด A เนี่ย ราคาก็มีอีกหลายพันเหมือนกันนะ อีกอย่างวิธีนี้สมัยนี้เขาไม่ค่อยนิยมกันแล้วนะครับ เพราะมีวิธีที่สะดวกและได้ผลดีกว่า เช่นการใช้เหยื่อ เป็นต้นครับ
 
 
ฉีดพ่น
 
วิธีต่อมาไม่ใช่การฉีดลงดินแล้ว แต่เป็นการฉีดตามส่วนต่างๆของบ้าน ซึ่งวิธีนี้จะไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาในระยะยาว เพราะทำลายได้แค่ส่วนของปลวกที่ออกมาหาอาหาร หรือปลวกรุ่นใหม่เท่านั้น ส่วนนางพญาและรังของปลวกเองที่อยู่ใต้ดินก็จะยังอยู่ ซึ่งการฉีดพ่นยากันปลวกแบบนี้จะฉีดตามส่วนต่างๆของบ้าน ทั้ง ฝ้า ผนัง เพดาน ห้องใต้บัน ใต้หลังคา Built-in ขอบบัว ซอก มุม ประตู หน้าต่าง รอบๆภายในบ้าน รวมไปถึงต้นไม้ด้านนอกบ้านด้วยเช่นกัน ซึ่งอีกหนึ่งข้อเสียคือการอาจจะทิ้งสารตกค้างไว้ภายในบ้านด้วย แต่ก็ขึ้นอยู่กับชนิดของน้ำยานะครับ (บางชนิดเป็นสารสกัดจากธรรมชาติ) ส่วนราคาค่าใช้จ่ายจะขึ้นอยู่กับขนาดของตัวบ้านและบริษัทต่างๆเช่นเดิม รวมไปถึงชนิดของน้ำยาและปริมาณที่ใช้ด้วย โดยสำหรับบ้านทาวน์โฮมขนาดเล็กไปจนถึงบ้านเดี่ยวขนาดประมาณ 300 ตร.ม. จะอยู่ที่ประมาณ 6,500 – 14,000 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดของบ้านครับ
 
ระบบเหยื่อ
 
เป็นการจัดการปลวกในรูปแบบล่อหรือวางเหยื่อตามจุดต่างๆที่พบปลวก จากนั้นปลวกจะมากินเหยื่อของเรา โดยตามหลักชีววิทยาของปลวกทั่วไปคือจะหาอาหารแล้วนำกลับไปที่รัง เผื่อให้ปลวกตัวอื่นๆรวมถึงนางพญาได้กินกัน ปลวกจะไม่รู้ เพราะเป็นสารเคมีชนิดออกฤทธิ์ช้า (หลังจากกินเหยื่อประมาณ 15-30 วัน) ที่มีความเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมค่อนข้างต่ำ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการขัดขวางกระบวนการตามธรรมชาติในการดำรงชีวิตของปลวก เช่น ยับยั้งขบวนการสร้างผนังลำตัว จะมีผลตอนที่ปลวกลอกคราบ ปากจะเหนียวและไม่สามารถเจริญเติบโตได้ จากนั้นปัญหาปลวกก็จะค่อยๆหายไป ค่าใช้จ่ายจะอยู่ที่ประมาณ 6,500 – 12,000 ขึ้นอยู่กับขนาดของตัวบ้านอีกเช่นเดิม
 
เหยื่อเต็มระบบ
 
เป็นระบบเหยื่ออีกแบบที่จะใช้กันภายนอกตัวบ้าน คือการฝังเหยื่อรอบบ้านในพื้นที่ที่เป็นดิน ติดไว้กับไม้เพื่อล่อปลวก จากนั้นปลวกในละแวกนั้นทั้งภายนอกและภายในตัวบ้านก็จะมากินและไม่สามารถเข้าบ้านได้ โดยส่วนใหญ่วางประมาณทุกๆ 4 เมตร / 1 จุด โดยจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่จุดละประมาณ 1,000 บาท สำหรับพื้นที่เป็นดิน ส่วนถ้าจะวางตรงคอนกรีตจะต้องเจาะพื้น ซึ่งจะทำให้มีราคาสูงขึ้นอีกหน่อยประมาณจุดละ 1,500  บาท ครับ
 
 
สุดท้ายนี้ผมรวบรวมวิธีต่างๆในการจัดการกับปลวกมาให้ชมกัน โดยที่ต้องบอกก่อนนะครับ ว่าทั้งหมดไม่ได้เป็นวิธีที่ตายตัวที่จะสามารถการันตีว่าจะได้ผล 100% เพราะมีปัจจัยภายนอกอื่น ๆ เป็นปัจจัยด้วย ทั้งเรื่องสถานที่, ประเภทของปลวก และอื่นๆ แต่เรื่องที่จะสามารถมั่นใจได้ก็คือการดูแลและจัดการบ้านให้สะอาด เรียบร้อย เพื่อลดต้นเหตุของการที่มีสัตว์รบกวน
 
 
 
เครดิตเว็บไซต์ http://thinkofliving.com
 
#ตรวจบ้าน #ตรวจคอนโด #ตรวจบ้านก่อนโอน #บริษัทรับตรวจบ้าน #บริษัทตรวจบ้าน #บริษัทรับตรวจบ้านPANTIP #ตรวจบ้านเจ้าไหนดี #ตรวจคอนโดเจ้าไหนดี #ตรวจบ้านราคา #ตรวจบ้านก่อนโอนราคา #จ้างตรวจบ้าน #จ้างตรวจคอนโด #Checklistตรวจบ้าน #Checklistตรวจคอนโด
 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้